สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิง | วางแผนภาษี อยากลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องทำอย่างไร
 

อยากลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทำยังงัย?
 
วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิงวันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจค่าลดหย่อนซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ค่าลดหย่อนเป็นรายการที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลนำไปหักออกจากเงินได้ได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว การหักลดหย่อนมีกรณีต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผมนำมาสรุปเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
 
กรณีบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มดังต่อไปนี้คือ
  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวและบุคคลในอุปการะ
  2. ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงิน เช่น การวางแผนประกัน การวางแผนลงทุน
  3. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยจากการกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัย
  4. ค่าลดหย่อนในการบริจาค

ค่าลดหย่อนส่วนตัวและบุคคลในอุปการะ
1.     ผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนส่วนตัวได้ 60,000 บาท
2.    คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
3.    ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
4.    ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ให้หักลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี รวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาทสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว และต้องรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ซึ่งเป็นสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนแล้ว
5.    บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
(1)   เป็นผู้เยาว์
- อายุไม่ถึง 20 ปี (มาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
- ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส (มาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หรือ
(2) มีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือ ชั้นอุดมศึกษา (ระดับอนุปริญญาขึ้นไป) รวมถึงการศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต หรือ
(3) บุตรที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ และ
(4) ไม่มีเงินได้พึงประเมิน ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่หักลดหย่อนถึง 30,000 บาท และต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้

จำนวนบุตรที่มีสิทธิหักลดหย่อน
ในกรณีผู้มีเงินได้มีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก
— ในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้
— แต่ถ้าบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้ โดยเมื่อรวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วต้องไม่เกิน 3 คน
การนับจำนวนบุตร
ให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุมากน้อยเรียงกันไป โดยให้นับรวมทั้งบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อน (บรรลุนิติภาวะ) ด้วย (บุตรฝาแฝดที่คลอดออกมาก่อนถือเป็นบุตรที่มีอายุสูงกว่า)
กรณีบุตรบุญธรรมต้องได้รับการจดทะเบียนรับรองเป็นบุตรบุญธรรม โดยผู้ที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจะเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน โดยเริ่มหักได้ตั้งแต่ปีภาษีที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ส่วนบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเดิมของบุตรคนนั้น ไม่สามารถหักลดหย่อนได้อีก         
กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่อยู่ในประเทศไทย
6.    บิดามารดาอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้บิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
7.    คนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
 

 
ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงิน
8.    เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
9.    ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าเบื้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท หากคู่สมรสมีการประกันชีวิต และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี
10. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเงินฝากแบบมีประกันชีวิตที่จ่ายไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
11.   ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาท
12. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น
13. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่เดิมประมวลรัษฎากรได้กำหนดว่าให้หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ต่อมาเมื่อต้องการเพิ่มค่าลดหย่อนเป็น 500,000 บาท การแก้ประมวลรัษฎากรอาจมีขั้นตอนที่ช้าและยุ่งยาก จึงใช้เป็นการออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมว่า เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่งผลทำให้เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถหักลดหย่อนและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างนั่นเอง
14. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง
15. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกและไถ่ถอนหน่วยลงทุนนั้นเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
16. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมไม่น้อยกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย
 
ทั้งนี้เมื่อรวมเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนตาม กองทุนการออมแห่งชาติ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการออมต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
 
*เงินได้เท่าที่สมาชิกกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น*
 
*เงินได้เท่าที่ผู้อํานวยการ ผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษา ในโรงเรียนเอกชนจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น*
 
ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยจากการกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัย
17. ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
 

 
ค่าลดหย่อนในการบริจาค
18. เงินบริจาค
-   เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
-   เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและสาธารณประโยชน์หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ได้แก่
  • เงินบริจาคให้สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน (แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ)เงินบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น
  • เงินบริจาคในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
  • เงินบริจาคในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก
  • เงินบริจาคให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  • เงินบริจาคเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดแก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
  • เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา
  • เงินบริจาคให้กองทุนพัฒนาสิ่งปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนเสริมงานวัฒนธรรม กองทุนเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุหรือกองทุนโบราณคดี
 
กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
1.     เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
2.    เงินบริจาคทั่วไป หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
 
กรณีกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท
1.     เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของ เงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
2.    เงินบริจาคทั่วไป หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
 

ThaiPFA ศูนย์อบรมต้นแบบ สู่เส้นทางคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP มืออาชีพมาตรฐานสากล

 


Thai Professional Finance Academy (ThaiPFA)

ติดต่อ


      086-666-0090 , 082-701-7077 , 087-063-3306 
 

ขอบคุณทุกความไว้วางใจ ที่มีให้ ThaiPFA


#นักวางแผนการเงินCFP มาตรฐานสากลกับThaiPFA  #เส้นทางสู่วิชาชีพนักวางแผนการเงินCFP มาตรฐานสากลโดยThaiPFA #ThaiPFA ศูนย์อบรมต้นแบบเพื่อความมั่งคั่งมั่นคงและยั่งยืน 
E-mail: thaipfa@gmail.com
Website: www.thaipfa.co.th  , www.thaipfaonline.com , www.allaboutfin.com
Social network: www.facebook.com/thaipfa
LINE: @thaipfa
Mobile: 086-666-0090 , 087-063-3306 ,082-701-7077

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA