สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิง | วางแผนภาษี รายได้อะไรบ้างได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องเสียภาษี
 

รายได้อะไรบ้างที่ยกเว้นภาษี ไม่ต้องเสียภาษี?
วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิงวันนี้ เราจะมาหาคำตอบกันว่ามีรายได้อะไรบ้างที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่างๆ รวมทั้งค่าบริจาค จะช่วยทำให้เราสามารถวางแผนภาษีได้อย่างเหมาะสม ทำให้เราเสียภาษีน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษีเลยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ เงินได้ที่มีการออกกฎหมายรองรับไว้อย่างชัดเจนว่าได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ การยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร การยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 การยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฉบับต่างๆ เป็นต้น รวมแล้วมีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากกว่าร้อยรายการ โดยแต่ละรายการอาจมีที่มาและเงื่อนไขของการยกเว้นที่แตกต่างกันออกไป
 
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมจึงได้ทำการรวบรวมและจัดกลุ่มเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกเป็น 12 กลุ่มดังนี้
  1. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกี่ยวกับดอกเบี้ย
  2. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการลงทุนในตลาดการเงิน
  3. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการวางแผนประกัน
  4. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการวางแผนเกษียณ
  5. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสวัสดิการของข้าราชการ/ลูกจ้าง
  6. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าทดแทน
  7. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรางวัล
  8. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ         
  9. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์          
  10. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการให้ การอุปการะและมรดก
  11. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการบริจาค
  12. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอื่นๆ          
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากดอกเบี้ย
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากดอกเบี้ย ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของสหกรณ์ ธ.ออมสิน ธกส. ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท ดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปไม่เกิน 30,000 บาทเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เป็นต้น 
  • ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจําที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจําทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจํานวนทั้งสิ้นไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ํากว่า 55 ปีบริบูรณ์
 
  • ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจํานวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น
 
  • ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก
 
  • ดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ยซึ่งผู้รับมิใช่ผู้ทรงคนแรก
 
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
 
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์
 
  • ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการคืนเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
 
  • ดอกเบี้ยเงินสะสมที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สําหรับเงินได้จํานวนดังกล่าวให้
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการลงทุนในตลาดการเงิน
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการลงทุนในตลาดการเงิน ได้แก่ กำไรจากการขายตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย กำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กำไรจากการขายกองทุนรวม และเงินปันผลจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 10 ปีแรกหลังจัดตั้งกองทุน เป็นต้น
 
ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการลงทุนในตลาดการเงินดังกล่าวมีรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆดังนี้
 
  • ดอกเบี้ยที่ได้จากตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นก่อนการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากดอกเบี้ยดังกล่าวทั้งจํานวนไว้แล้ว  ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งเกิดจากตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่มีการจําหน่ายครั้งแรกในราคาต่ํากว่าราคาไถ่ถอน จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ทรงคนแรกไว้แล้วตาม มาตรา 50 (2) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้ประทับตราว่าได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายบนตราสารแล้วเท่านั้น
 
  • ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาซื้อตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและมีการจําหน่ายครั้งแรกในราคาต่ํากว่าราคาไถ่ถอน แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้ทรงคนแรก
 
  • ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย
 
  • เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร
 
  • เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มีการซื้อขายผ่านระบบที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดให้มีขึ้นเพื่อเชื่อมโยงการซื้อขายกับตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หรือหุ้นกู้
 
  • เงินได้จากการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งกระทําในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เฉพาะกรณีที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า
 
  • เงินได้ของกองทุนรวม
 
  • เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม แต่ไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
 
  • เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคํานวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย
 
  • ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลซึ่งมิใช่นิติบุคคล สําหรับเงินปันผลที่ได้จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลา 10 ปีต่อเนื่องกันนับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวม
 
  • ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน และการโอนหุ้นที่ได้กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมด
 
  • เงินปันผลที่ได้จากการถือหุ้นและผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุนและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการวางแผนประกัน
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการวางแผนประกัน ได้แก่ เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาไม่เกิน 15,000 บาท เบี้ยประกันชีวิตหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตซึ่งมีกำหนด 10 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นและค่าลดหย่อนจากเบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิต และเงินฝากแบบมีประกันดังกล่าวรวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
 
  • เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรตามจํานวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท สําหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ
 
  • เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันภัยในปีภาษีสําหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจํานวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ทั้งนี้ในส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาทจะถือเป็นค่าลดหย่อน โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกําหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร  
 
  • เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเงินฝากไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะในปีภาษีตามจํานวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งการฝากเงินนั้นมีข้อตกลงว่าธนาคารผู้รับฝากเงินจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ตามข้อตกลงโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ฝากเงิน และมีกําหนดระยะเวลาการฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นดังกล่าวเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเนื่องจากการฝากเงินกับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะและได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

*ทั้งนี้เมื่อรวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้นกับค่าลดหย่อนจาก
  • เบี้ยประกันสุขภาพ
  • เบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • เงินฝากที่จ่ายไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะที่เป็นเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิตหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการวางแผนเกษียณ
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการวางแผนเกษียณ ได้แก่ เงินสะสมและผลประโยชน์ต่างๆที่ได้รับจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนรวมเพื่อการออม กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและค่าลดหย่อนในส่วนของเงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และเบี้ยประกันภัยสําหรับการประกันชีวิตแบบบํานาญ รวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
 
ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการวางแผนเกษียณดังกล่าวข้างต้นมีรายละเอียดและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
 
  • เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น* ส่วนเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท จะถือว่าเป็นค่าลดหย่อนตามกฎหมาย รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้นและค่าลดหย่อนจึงไม่เกิน 500,000 บาท
 
  • เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสํารองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ดังต่อไปนี้
    1. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับ เนื่องจากลูกจ้างออกจากงานเพราะตาย ทุพพลภาพหรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ํากว่า 55 ปีบริบูรณ์
    2. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนสํารองเลี้ยงชีพเนื่องจากลูกจ้างออกจากงานก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่เมื่อออกจากงานแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ ทั้งจํานวนในกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นตาย ทุพพลภาพหรืออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
 
  • เงินได้เท่าที่สมาชิกกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น*
 
  • เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ดังต่อไปนี้
    1. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับ เนื่องจากสมาชิกกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการออกจากราชการเพราะตาย เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน หรือเหตุสูงอายุ
    2. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ เนื่องจากสมาชิกกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการออกจากราชการในกรณีอื่นนอกจาก (ก) แต่เมื่อออกจากราชการแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจํานวนในกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากสมาชิกผู้นั้นตาย ทุพพลภาพ หรืออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
 
  • บําเหน็จดํารงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ
 
  • เงินที่มีลักษณะเดียวกับบําเหน็จดํารงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ซึ่งพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และพนักงานธนาคารออมสินได้รับ โดยมีอัตราและวิธีการคํานวณเช่นเดียวกับบําเหน็จดํารงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ
 
  • เงินได้ที่มีลักษณะเดียวกับบําเหน็จดํารงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ซึ่งเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยได้รับ โดยมีอัตราและวิธีการคํานวณเช่นเดียวกับบําเหน็จดํารงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ
 
  • บํานาญพิเศษ บําเหน็จพิเศษ บํานาญตกทอด หรือบําเหน็จตกทอด
 
  • เงินได้เท่าที่ผู้อํานวยการ ผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษา ในโรงเรียนเอกชนจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น*
 
  • เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้อํานวยการ ผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษา ในโรงเรียนเอกชนได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เมื่อผู้อํานวยการ ผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษา ในโรงเรียนเอกชนออกจากงานเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย
 
  • เงินได้เท่าที่สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามจํานวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท สําหรับปีภาษีนั้น*
 
  • เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนการออมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ เนื่องจากสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติทุพพลภาพ หรือสิ้นสมาชิกภาพเพราะอายุ ครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือถือว่าเป็นกรณีที่สมาชิกมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือตาย
 
  • เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมไม่น้อยกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567
 
  • เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการออมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย 
 
  • เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น* โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกและไถ่ถอนหน่วยลงทุนนั้นเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ํากว่า 55 ปี
 
  • เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับจากกองทุนรวมดังกล่าวเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย
 
  • เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ทีได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยหน่วยลงทุนดังกล่าวต้องเป็นหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ได้จากการโอน หรือเกี่ยวเนื่องจากการโอนมาจากกองทุนสํารองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ขายหน่วยลงทุนนั้นเมื่อมีอายุไม่ต่ํากว่า 55 ปีบริบูรณ์และมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยงชีพกับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือทุพพลภาพหรือตาย
 
  • เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสําหรับการประกันชีวิตแบบบํานาญ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท*
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสวัสดิการของข้าราชการ/ลูกจ้าง
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสวัสดิการของข้าราชการ/ลูกจ้าง เช่น  ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลูกจ้างและบุคคลในครอบครัว ตามเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนด เป็นต้น
 
ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสวัสดิการของข้าราชการ/ลูกจ้างดังกล่าวมีรายละเอียดและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
 
  • ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกําหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตราค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง
  • เงินเพิ่มพิเศษประจําตําแหน่ง และเงินค่าเช่าบ้าน หรือบ้านที่ให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า สําหรับข้าราชการสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
  • เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เป็นเงินค่าเช่าบ้านหรือเงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดาร เงินยังชีพ หรือเงินค่าอาหารทําการนอกเวลา
  • เงินค่าตอบแทนพิเศษสําหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
  • เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความเป็นจริง หรือเงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สําหรับเงินได้จํานวนดังกล่าวให้
  • เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดารหรือเงินยังชีพ ที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สําหรับเงินได้จํานวนดังกล่าวให้
 
  • ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรือผู้รับทํางานให้ ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจําเป็นเฉพาะ ในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
  • เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมดโดยจําเป็นเพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายใน 365 วัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง
 
  • เงินได้ที่คํานวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในจํานวนคนละไม่เกิน 2 ชุดต่อปีและเสื้อนอกในจํานวนคนละไม่เกิน 1 ตัวต่อปี 
 
  • เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาล สําหรับ
    1. ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้เฉพาะสําหรับการรักษาพยาบาลที่กระทําในประเทศไทย
    2. ลูกจ้างในกรณีที่จําเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ เงินจํานวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
 
  • เงินได้เท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สําหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกําหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสําหรับ
    1. ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
    2. ลูกจ้าง ในกรณีที่จําเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
 
  • เงินได้ที่คํานวณได้จากมูลค่าที่ลูกจ้างได้รับจากการนําบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนแต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมไปอยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่นายจ้างได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสําหรับสถานประกอบการนั้น
 
  • ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทํางาน 300 วันสุดท้ายแต่ไม่เกิน 300,000 บาท
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าทดแทน
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าทดแทน ได้แก่ ค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด การประกันภัย ประกันสังคม และการเวนคืนเป็นต้น
 
ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าทดแทนมีเงื่อนไขและรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
  • ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด เงินที่ได้จากการประกันภัย หรือการฌาปนกิจสงเคราะห์
 
  • เงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม
 
  • เงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เฉพาะที่ดินที่ต้องเวนคืน และอสังหาริมทรัพย์อื่นบนที่ดินที่ต้องเวนคืน
 
  • ค่าทดแทน ค่าตอบแทน หรือเงินอื่นที่ได้รับเนื่องจากความเสียหายหรือเสื่อมประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้อํานาจของรัฐตามที่กฎหมายกําหนด ในการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ การเข้าใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรางวัล      
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรางวัล ได้แก่ รางวัลบัตรออมทรัพย์ ธกส. สลากออมสิน สลากบำรุงกาชาด สลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลเพื่อการศึกษา รางวัลการประกวดหรือสินบนจากราชการ และเงินอัดฉีดจากการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ เป็นต้น
 
ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรางวัลดังกล่าวข้างต้นมีรายละเอียดและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
 
  • รางวัลสลากออมสินของรัฐบาล รางวัลบัตรออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • รางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาล เงินได้จากการจําหน่ายหรือส่วนลดจากการจําหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาล
  • รางวัลสลากบํารุงกาชาดไทย เงินได้จากการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลากบํารุงกาชาดไทย
 
  • รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ
  • รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้ในการประกวดหรือแข่งขัน ซึ่งผู้รับมิได้มีอาชีพในการประกวดหรือแข่งขัน
  • สินบนรางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทําความผิด
  • รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้มีการกระทําผิดเกี่ยวกับภาษีอากร
 
  • เงินได้ที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อเป็นรางวัลอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการแข่งขันรายการมหกรรมกีฬา และรายการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นระดับนานาชาติ เฉพาะส่วนที่เกินสิบล้านบาท
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ    
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ เช่น การขายข้าวของชาวนา การขายแสตมป์ การขายยาสูบ การปฏิบัติงานบนเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ค่าสอนจากราชการ การทำงานระหว่างปิดภาคการศึกษาของคนต่างด้าว และกิจการโรงเรียนเอกชน เป็นต้น
 
ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพดังกล่าวข้างต้นมีเงื่อนไขและรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
  • เงินได้ของชาวนาที่ได้จากการขายข้าว อันเกิดจากกสิกรรมที่ตนและหรือครอบครัวได้ทําเอง
  • เงินได้จากการขาย หรือส่วนลดจากการซื้ออากรแสตมป์หรือแสตมป์ไปรษณียากรของรัฐบาล
  • เงินได้จากการขายสินค้ายาสูบ ที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังได้เสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวทุกทอดตามมาตรา 48 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
  • เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจําเรือได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงานบนเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวีที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
 
  • เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้
  • เงินได้ส่วนที่เป็นค่าจ้างการทํางานในระหว่างเวลาปิดภาคการศึกษาของคนต่างด้าวซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือนิสิตที่เข้ามาศึกษา ณ สถานศึกษาในประเทศไทย
 
  • เงินได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  • เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกําไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่ไม่รวมถึงกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์     
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งรวมทั้งเงินได้ที่ได้รับยกเว้นและค่าลดหย่อนแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปีแต่ไม่เกินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ เป็นต้น
 
ทั้งนี้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีเงื่อนไขและรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
  • เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สําหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจํานองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจํานวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท* ซึ่งจ่ายให้แก่
 (ก)   กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 (ข)   กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 (ค)   นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดําเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวเข้ารับช่วงสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมตาม (ก) หรือ (ข) ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง 
 
  • เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สําหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจํานองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจํานวนที่จ่ายจริงในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท*
  • เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ สําหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ตามจํานวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท*
 
*ค่าลดหย่อนและเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
 
  • เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้
 (ก)   บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
 (ข)   อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) พร้อมที่ดิน
 (ค)   ห้องชุดสําหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
สําหรับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้มีเงินได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับจํานวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจํานวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ทั้งนี้ ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
 
  • เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่วัด วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค หรือมัสยิด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนที่ดินส่วนที่ทําให้วัด วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค หรือมัสยิดมีที่ดินไม่เกิน 50 ไร่
  • เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา
  • เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
  • เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่สภากาชาดไทย
  • เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการให้โดยเสน่หา การอุปการะและมรดก
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการให้โดยเสน่หา การอุปการะและมรดกมีเงื่อนไขและรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
  • เงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้ เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
 
  • เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
 
  • เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
 
  • เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้จากการโอนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคนตลอดปีภาษีนั้น
 
  • เงินได้ที่ได้รับจากกองมรดก ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ไว้ในนามของกองมรดกแล้ว
 
  • การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือ หากําไร แต่ไม่รวมถึงเรือกําปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป หรือแพ
 
  • เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยา หรือการปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ทั้งนี้เฉพาะเงินได้จากการขายในส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการบริจาค
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการบริจาคอาจได้รับยกเว้นเท่าจำนวนที่บริจาคในกรณีที่เป็นการบริจาคทั่วไป หรือเป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่าย เช่น เงินสนับสนุนการศึกษา แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการบริจาคมีเงื่อนไขและรายละเอียดดังนี้
 
  • เงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเท่าจํานวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนดังกล่าวนั้น
    1. ให้แก่ส่วนราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่น
    2. ให้แก่กรมศิลปากรเพื่อการบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
    3. ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการกีฬา คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด กรมพลศึกษาเพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน หรือสมาคมกีฬาจังหวัดหรือสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อการกีฬา
    4. ให้แก่กองทุนสวัสดิการจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ
    5. ให้แก่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ
 
  • เงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนเป็นจํานวนสองเท่าของรายจ่าย แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
  1.  รายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาเห็นชอบ
  2. รายจ่ายที่ให้สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
  3. รายจ่ายบริจาคกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น
  4. รายจ่ายที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสนับสนุนการดําเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  5. เงินที่บริจาคให้แก่โครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบําบัด แก้ไข ฟื้นฟูและสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
 
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอื่นๆ     
 
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับเงินได้สุทธิจากการคํานวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก สําหรับปีภาษีนั้น
 
  • เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ํากว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น
 
  • เงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น
 
  • เงินได้จากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทําของชาวต่างประเทศดังต่อไปนี้
  1. เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยได้รับจากรัฐบาลของตน
  2. ผู้แทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยได้รับจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ
  3. คนต่างด้าวได้รับจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานในการปฏิบัติงานในประเทศไทย
  4. คนต่างด้าวได้รับจากรัฐบาลแห่งประเทศของตนในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อพยพจากอินโดจีนในประเทศไทย
  5. ผู้เชี่ยวชาญของประชาคมยุโรปเข้ามาทํางานในประเทศไทย ภายใต้โครงการความช่วยเหลือที่ประเทศไทยได้รับจากประชาคมยุโรป
  6. เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติได้รับจากศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ
 
  • เงินได้ที่คณะกรรมการบริหาร “ทุนการกุศลสมเด็จพระเทพฯ” ได้รับเพื่อประโยชน์ของทุนการกุศลสมเด็จพระเทพฯ
  • เงินได้ที่คณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสําหรับพระสงฆ์ไทยได้รับเพื่อประโยชน์ของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสําหรับพระสงฆ์ไทย
  • เงินได้ที่คณะกรรมการกองทุนลานกีฬาต้านยาเสพติด สํานักนายกรัฐมนตรีได้รับเพื่อประโยชน์ของกองทุนลานกีฬาต้านยาเสพติดดังกล่าว
 
  • เงินได้ของผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เท่าจํานวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล หรือเท่าจํานวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายที่ได้รับ ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
  • เงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่น ซึ่งได้ลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการได้รับเฉพาะส่วนที่เท่ากับจํานวนค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น
 
  • เงินได้เท่าจํานวนเงินที่ได้รับจากรัฐบาล เพื่อนําไปใช้ในการป้องกันอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยอันมีลักษณะถาวร ผู้มีเงินได้ต้องไม่นํามูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่ได้ทําขึ้นเพื่อป้องกันอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอันมีลักษณะถาวร ในส่วนที่เท่ากับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคข้างต้น ไปรวมเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินเพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน
  • เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้เบิกจ่ายได้
 
  • ผลประโยชน์ที่ได้จากการควบเข้ากันของธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และหรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
 
  • เงินได้ที่ได้รับจากส่วนแบ่งของกําไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลที่ได้รับจาก
  1. การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมอันได้มาโดยทางมรดก หรือได้รับจากการให้โดยเสน่หาซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามส่วน 2 หมวด 3 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
  2. ดอกเบี้ยเงินฝากตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
 

ThaiPFA ศูนย์อบรมต้นแบบ สู่เส้นทางคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP มืออาชีพมาตรฐานสากล

 


Thai Professional Finance Academy (ThaiPFA)

ติดต่อ


      086-666-0090 , 082-701-7077 , 087-063-3306 
 

ขอบคุณทุกความไว้วางใจ ที่มีให้ ThaiPFA


#นักวางแผนการเงินCFP มาตรฐานสากลกับThaiPFA  #เส้นทางสู่วิชาชีพนักวางแผนการเงินCFP มาตรฐานสากลโดยThaiPFA #ThaiPFA ศูนย์อบรมต้นแบบเพื่อความมั่งคั่งมั่นคงและยั่งยืน 
E-mail: thaipfa@gmail.com
Website: www.thaipfa.co.th  , www.thaipfaonline.com , www.allaboutfin.com
Social network: www.facebook.com/thaipfa
LINE: @thaipfa
Mobile: 086-666-0090 , 087-063-3306 ,082-701-7077

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA