สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
แก้หนี้ง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอนกับการปรับ Mindset เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน
 



แค่ปรับ Mindset 3 ขั้นตอนง่ายๆก็แก้ไขปัญหาหนี้ที่ว่ายากได้แล้ว

 
เริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาหนี้ ขั้นตอนแรกลูกหนี้หรือผู้กู้ต้องปรับ Mindset ด้วยการยอมรับว่ากำลังมีปัญหาหนี้สิน การรับรู้ปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำได้ง่ายๆเพียงแค่เริ่มต้นสำรวจทรัพย์สินและหนี้สินที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทั้งนี้หากพบว่าหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมดที่มี ก็คงต้องยอมรับแล้วว่าหนี้สินที่ไปกู้ยืมมาเข้าขั้นที่จะทำให้ผู้กู้กลายเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาแล้ว นอกจากนั้นผู้กู้หรือลูกหนี้ก็ควรต้องทำการคาดการณ์รายได้และรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อตรวจสอบว่ารายได้หลังจากหักรายจ่ายต่างๆในชีวิตประจำวันเหลือจำนวนเงินเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการชำระหนี้หรือไม่
ขั้นตอนถัดไปของการแก้หนี้ ลูกหนี้จะต้องสำรวจหาสาเหตุของปัญหาหนี้สินให้ได้ว่า หนี้สินที่อยู่ระดับที่สูงเป็นการกู้ยืมที่จำเป็น เป็นการกู้ยืมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้นมีความมั่งคั่งมากขึ้น มีความมั่นคงและยั่งยืนหรือไม่ เช่น เป็นหนี้ที่กู้ยืมเพื่อนำไปลงทุน เป็นหนี้ที่กู้ยืมไปเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมหรือไม่ และตรวจสอบอย่างไม่คิดเข้าข้างตัวเองในกรณีที่คาดว่ารายได้หลังจากหักรายจ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันแล้วอาจเหลือไม่เพียงพอต่อภาระการผ่อนชำระหนี้ว่า เกิดขึ้นจากรายได้ที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือเกิดขึ้นจากรายจ่ายที่มีการใช้จ่ายจนเกินตัว

ขั้นตอนสุดท้ายของการปรับ Mindset เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ ต้องทำการแก้ไขที่สาเหตุโดยตรงของปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้น และต้องทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปฏิบัติตามแผนการเงินอย่างเคร่งครัด การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ต้นเหตุจะต้องอาศัยการวางแผนการเงิน และการจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่ายล่วงหน้า โดยต้องพยายามไม่สร้างหนี้ใหม่ แต่ในทางตรงข้ามพยายามลดยอดหนี้ให้ได้มากที่สุด มีการชำระคืนหนี้ที่มีอยู่ตามจำนวนและกำหนดเวลาที่ตกลง และในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามเงื่อนไขก็ต้องติดต่อและเจรจาเพื่อหาทางออกกับเจ้าหนี้แต่ไม่หนีหนี้ไม่หนีปัญหา นอกจากนั้นแล้วหากสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้ก็จะต้องสร้างวินัยในการออมและไม่ใช้จ่ายเงินจนเกินตัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ซ้ำเดิมอีกในอนาคต

ในการแก้ไขปัญหาหนี้ ลูกหนี้หรือผู้กู้จะต้องระมัดระวังพยายามไม่ก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมจากหนี้เดิม รวมทั้งไม่ใช่วิธีการแก้หนี้ด้วยการกู้ยืมหนี้ใหม่เพื่อมาชำระหนี้เดิมที่มีอยู่ เพราะการกู้หนี้ใหม่ก็จะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้อาจมีภาระต้องชำระคืนมากขึ้นไปอีก กลายเป็นงูกินหางพันกันไปเรื่อย ๆจนไม่สามารถหาทางแก้ไขได้
นอกจากจะไม่สร้างหนี้ใหม่แล้ว ลูกหนี้หรือผู้กู้ก็ควรพยายามลดหนี้เดิม ด้วยการนำเงินมาโปะหนี้ ไม่ว่าจะเป็นโบนัส เงินออม หรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินบางส่วน ในกรณีที่ตัดสินใจจะขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อนำไปชำระหนี้หรือลดยอดหนี้คงค้าง ทันทีที่มีการขายทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องรีบนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ ไม่เผลอนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น

การแก้ปัญหาหนี้ ผู้กู้หรือลูกหนี้จะต้องไม่ละเลยการชำระหนี้ทุกก้อนที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ เพราะถ้าหากผิดนัดชำระหนี้ อาจส่งผลทำให้ถูกยึดบ้านหรือรถยนต์ ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัยและไม่มีรถยนต์ใช้ในการขับไปทำงานเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ และส่งผลทำให้ต้องมีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมอีก นอกจากนั้นหากลูกหนี้อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ ก็ต้องสร้างวินัยในการออมเงินเพื่อให้สามารถมีเงินมาทยอยชำระคืนหนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้
ทั้งนี้การชำระภาระหนี้สินตามแผนที่วางไว้ โดยการชำระหนี้ตรงตามจำนวนและกำหนดเวลาที่ได้ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องทำวางแผนการเงินและจัดทำงบประมาณล่วงหน้าโดยแจกแจงค่าใช้จ่ายออกเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอาจได้แก่ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านพักอาศัย ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเครื่องนุ่งห่ม เบี้ยประกันภัยต่างๆ รวมทั้งหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือน ทั้งนี้หลังจากการพยายามหารายได้ให้เพิ่มขึ้นให้มากที่สุดและสมเหตุสมผลเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ ผู้กู้หรือลูกหนิ้จะต้องวางแผนควบคุมให้ค่าใช่จ่ายที่จำเป็นให้ไม่เกินกว่ารายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และหากยังมีเงินเหลือก็อาจใช้แบ่งไปใช้จ่ายกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้บ้าง อย่างไรก็ตามลูกหนี้หรือผู้กู้จะต้องยอมรับว่าการกู้หนี้จะทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปไม่สามารถใช้จ่ายได้เหมือนกับตอนที่ไม่มีหนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามถ้าหากปฏิบัติตามแผนการแก้หนี้แล้วเกิดปัญหาที่ไม่คาดฝันทำให้ไม่สามารถชำระหนี้คืนหรือปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขในสัญญา ก็ต้องรีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอเจรจาปรับปรุงแก้ไขหนี้ใหม่โดยทันที

หลังจากแก้ไขปัญหาหนี้เดิมได้แล้ว ลูกหนี้หรือผู้กู้จะต้องเปลี่ยน Mindset ในการออมเงิน โดยเปลี่ยนนิยามเงินออมจากเดิมที่ถูกปลูกฝังว่าเงินออมเป็นเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย โดยต้องปลูกฝังค่านิยมใหม่ว่าเงินออมควรเป็นเงินที่กันไว้ก่อนใช้จ่าย และควรสร้างวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอ ทันทีที่มีรายได้เข้ามา ก็ควรจะทำการหักรายได้ไปออมโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น การใช้บริการ Payroll Deduction หักเงินจากบัญขีเงินเดือนโดยอัตโนมัติเข้าไปยังบัญชีเงินออมอย่างเป็นระบบ โดยอาจเริ่มต้นจากการหักบัญชีเงินเดือนเพื่อออมอัตโนมัติทุกๆเดือนอย่างน้อย 10% ของเงินเดือน และเริ่มทำการออมเงินเผื่อเหตุฉุกเฉิน เช่น ตกงาน เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเหตุไม่คาดฝันอื่นๆ เช่น โควิด การออมเงินเผื่อเหตุฉุกเฉินดังกล่าวนี้จะส่งผลทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นก็มีเงินออมนำมาใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการก่อหนี้ใหม่ ทั้งนี้ก่อนโควิดนักวางแผนการเงินมักแนะนำให้ออมเงินสำหรับใช้ฉุกเฉินประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่หลังจากเกิดวิกฤติโควิด นักวางแผนการเงินหลายคนเริ่มปรับคำแนะนำให้มีการสำรองเงินสภาพคล่องเผื่อเหตุฉุกเฉินประมาณ 12 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน หลังจากนั้นที่มีเงินออมสภาพคล่องเผื่อเหตุฉุกเฉินแล้วขั้นตอนต่อไปก็ควรทำการออมเงินตามเป้าหมายต่างๆ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ การศึกษาบุตร และเงินสำหรับใช้หลังเกษียณ ทำให้ลดโอกาสที่จะต้องกู้ยืมในอนาคตสามารถหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้อย่างถาวร

www.thaipfa.co.th

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA